การได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ ของ พระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกส

ตราประจำพระองค์ของพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกส

ความล้มเหลวของพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยาทำให้ฌูเอาแห่งอาวิชยิ่งได้รับความนิยม วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1385 สภาขุนนางได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในกูอิงบราและได้ประกาศให้บียาตริช พระธิดาพระเจ้าฟือร์นังดูเป็นบุตรนอกสมรส ฌูเอาแห่งอาวิชได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ลิสบอน, โปร์ตู, กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มสมาคมผู้ค้าสนับสนุนพระองค์ แต่ขุนนางอาวุโสส่วนใหญ่ยังคงเอนเอียงไปทางทายาทในฝั่งกัสติยามากกว่า พระเจ้าฌูเอากับนูนู อัลวารึช ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ตรวจตราของพระองค์ได้เดินทัพขึ้นเหนือและได้รับการสวามิภักดิ์จากผู้นำในพื้นที่ส่วนนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ได้ข่าวว่ากัสติยากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการบุกครั้งใหญ่ กองทัพสเปนได้เข้าสู่ตอนกลางของโปรตุเกส พระเจ้าฌูเอาและนูนู อัลวารึช ได้เข้าสกัดกั้นไม่ให้กองทัพเดินทางเข้าสู่ลิสบอนได้และได้รับชัยชนะครั้งสำคัญที่สมรภูมิอัลฌูบาโรตาในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1385 ชัยชนะครั้งนี้เป็นเครื่องตอกย้ำถึงเอกราชของโปรตุเกส

ภาพพระเจ้าฌูเอาที่ 1 (ตรงกลาง) กำลังเจรจากับจอห์นแห่งกอนต์ (ซ้ายมือของโต๊ะ) เรื่องการบุกกัสติยา

พระเจ้าฌูเอาได้ความช่วยเหลือส่วนหนึ่งมาจากอังกฤษ พลธนูชาวอังกฤษกลุ่มเล็ก ๆ ได้ช่วยพระองค์ต่อสู้ในอัลฌูบาร์โรตา วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1386 พระองค์ได้ลงนามในสนธิสัญญาวินด์เซอร์ เสาหลักแห่งมิตรภาพระหว่างอังกฤษกับโปรตุเกสที่สนับสนุนให้การอ้างสิทธิ์เป็นกษัตริย์แห่งกัสติยาของกอนส์ตันซา พระธิดาของพระเจ้าเปโดรผู้โหดร้ายแห่งกัสติยา และจอห์นแห่งกอนต์ ดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ผู้เป็นพระสวามีชอบด้วยกฎหมาย[5] เดือนกุมภาพัธ์ ค.ศ. 1387 พระเจ้าฌูเอาแห่งอาวิชผนึกสัมพันธไมตรีด้วยการสมรสกับฟิลิปปา ธิดาของดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ ทว่าการร่วมมือกันรุกรานกัสติยาประสบความล้มเหลว[6] พระเจ้าฌูเอาแห่งอาวิชทำสนธิสัญญาพักรบ 10 ปีกับกัสติยาในปี ค.ศ. 1389 แต่การกระทบกระทั่งบริเวณพรมแดนโปรตุเกส-กัสติยายังคงเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และสงบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพในปี ค.ศ. 1411